ข้อแนะนำเบื้องต้นในการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศกับสาธารณรัฐประชาชนจีน

Homepage    China knowledge    ข้อแนะนำเบื้องต้นในการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศกับสาธารณรัฐประชาชนจีน

เนื่องจากในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีบริษัทไทยและจีนที่ทำการค้าขายระหว่างประเทศประสบปัญหาการถูกฉ้อโกง หลอกลวงเป็นจำนวนมาก มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และมีรูปแบบปัญหาที่หลากหลาย ดังนั้นการซื้อขายระหว่างประเทศกับบริษัทต่างชาติจะมีความเสี่ยงอยู่เสมอ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงปักกิ่ง ขอแนะนำการดำเนินการเบื้องต้นในการประกอบธุรกิจกับวิสาหกิจในสาธารณรัฐประชาชนจีน ดังนี้

 

1. ก่อนทำการซื้อขายสินค้ากับบริษัทจีน ควรพูดคุยกับบริษัทคู่ค้าตามที่อยู่จริงในประเทศจีน และถ้าเป็นไปได้อาจหาโอกาสเดินทางมาพบกับผู้บริหารของบริษัท เพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือและความถูกต้องของบริษัท รวมถึงป้องกันความเสี่ยงและปัญหาที่อาจเกิดตามมาในภายหลัง

2. การซื้อขายในระยะแรกไม่ควรสั่งซื้อในปริมาณมาก เพื่อทดสอบความน่าเชื่อถือของบริษัทคู่ค้าผ่านการซื้อขายระหว่างกันในช่วงแรก

3. ดำเนินการซื้อขายตามกฎระเบียบและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ เช่น การทำสัญญาการซื้อขายที่มีผลทางกฎหมาย ควรระบุเงื่อนไขและวิธีการดำเนินการแก้ไข กรณีหากเกิดข้อพิพาทหรือปัญหาหลังการซื้อขาย การชำระเงินให้ใช้วิธีการจ่ายเงินที่รอบคอบ เช่น L/C หลีกเลี่ยงการโอนเงินโดยตรง T/T รวมถึงตรวจสอบสินค้าทุกครั้งก่อนการชำระเงิน และอาจระบุให้ผู้ขายเปิด Bank Guarantee เพื่อลดความเสี่ยงของการได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่ตกลงซื้อขาย รวมทั้งผู้ซื้อควรหาเซอเวย์เยอร์บุคคลที่ 3 มาเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของสินค้าก่อนขนส่ง เป็นต้น และปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้องทุกครั้ง เพื่อป้องกันความเสี่ยงและเพิ่มความปลอดภัยในการซื้อขาย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถหารือกับธนาคารพาณิชย์ไทยในการเปิด L/C ในการชำระเงินหรือรับชำระเงิน และอาจขอให้แนะนำบุคคลที่ 3 ที่จะช่วยตรวจสอบสินค้าในประเทศผู้ขายก่อนส่งออก

4. ดำเนินการเจรจาซื้อขายด้วยความระมัดระวังเสมอ ขอข้อมูลชื่อสกุลจริง (ภาษาจีน) เบอร์โทรศัพท์ และที่อยู่อีเมล์ที่ถูกต้องของผู้ติดต่อในประเทศจีน และใช้ช่องทางการติดต่อที่หลากหลาย เช่น โทรศัพท์ โทรสาร อีเมล์ หรือช่องทางอื่นๆ และหากบริษัทคู่ค้ามีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลสำคัญ เช่น ที่อยู่อีเมล์ เลขบัญชีธนาคารโอนเงิน ข้อมูลการชำระเงิน ให้ตั้งข้อสงสัยเป็นพิเศษว่าอาจมีการแอบอ้าง/หลอกลวงโดยผู้ไม่หวังดี ให้ติดต่อสอบถามกับคู่ค้าเพื่อความแน่ชัดและถูกต้องก่อนการทำธุรกรรมซื้อขาย

5. สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการยุคใหม่ (New Economy Academy: NEA) โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ มีหลักสูตรการเรียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Academy) ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการค้าระหว่างประเทศสำหรับผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Foreign Exchange Risk Management) หลักสูตรกฎหมายธุรกิจเพื่อการค้าระหว่างประเทศเบื้องต้น (Basic International Trade Law) และหลักสูตรอื่น ๆ โดยสามารถลงทะเบียนเรียนได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายผ่านทางเว็บไซด์ http://e-academy.ditp.go.th ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้นำเข้าไทยโดยเฉพาะเพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายจากการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ

------------------------------------

สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงปักกิ่ง

มิถุนายน 2564

Created on:2021年7月16日 16:06
PV:0
Collect